ค้นหาบล็อกนี้

วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

แนวทางในการจัดทำงบการเงินรวม

ก.ล.ต. ได้มีหนังสือเวียนแจ้งบริษัทจดทะเบียนและผู้สอบบัญชี เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในเรื่อง แนวทางการจัดทำงบการเงินรวม ซึ่งมาตรฐานการบัญชีกำหนดให้บริษัทต้องนำงบของกิจการอื่นที่อยู่ภายใต้การควบคุมมาทำงบการเงินรวมด้วย เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้องในการตัดสินใจลงทุน

ตัวอย่างรายละเอียดแนวทางในการจัดทำงบการเงินรวม คร่าวๆมีดังนี้

เนื่องจากมาตรฐานการบัญชีได้มีข้อกำหนดไว้ว่าบริษัทต้องจัดทำงบการเงินรวมโดยรวมงบการเงินบริษัทย่อย ซึ่งนั่นหมายถึงกิจการที่อยู่ภายใต้การอำนาจควบคุมของบริษัทที่จดทะเบียน แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาในการพิจารณาถึงการอำนาจการควบคุมดังกล่าวว่าอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นบริษัทย่อย โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทมักจะพิจารณาเพียงแต่สัดส่วนของการถือหุ้นที่เกินกว่ากึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วถึงแม้ว่าบริษัทจดทะเบียนจะถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งในกิจการอื่น ก็สามารถมีอำนาจควบคุมในกิจการนั้นๆ ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นทางสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จึงได้มีการกำหนดข้อบ่งชี้เบื้องต้นในการสันนิษฐานว่าบริษัทจดทะเบียนมีอำนาจควบคุมกิจการอื่นขึ้น
Download แนวทางการจัดทำงบการเงินรวมตัวเต็ม (PDF) !
ในการซักซ้อมความเข้าใจครั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ ก.ล.ต. จะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริษัทจดทะเบียนมีอำนาจควบคุมกิจการนั้นแม้จะถือหุ้นในกิจการไม่เกินกึ่งหนึ่งเช่น บริษัทจดทะเบียนมีการให้กู้ยืมในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวมของกิจการนั้น(ไม่รวมกรณีที่บริษัทจดทะเบียนเป็นสถาบันการเงิน) หรือกิจการนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ขายผู้แทนจำหน่าย หรือรับจ้างผลิตสินค้าให้แก่บริษัทจดทะเบียน และรายได้เกือบทั้งหมดของกิจการมาจากการค้าขายระหว่างกันในลักษณะที่อาจพิจารณาได้ว่าเป็นเสมือนส่วนงานหนึ่งของบริษัทจดทะเบียน เป็นต้น ซึ่งกรณีเหล่านี้บริษัทจดทะเบียนและผู้สอบบัญชีควรจะถือว่ากิจการดังกล่าวเป็นบริษัทย่อยในการจัดทำงบการเงินรวม เว้นแต่บริษัทจดทะเบียนจะสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงอื่นที่แสดงว่าตนไม่ได้มีอำนาจควบคุมกิจการนั้น
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. พบว่าหลายบริษัทพิจารณาอำนาจควบคุมโดยดูจากสัดส่วนการถือหุ้นที่เกินกึ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีและทำให้ผู้ลงทุนไม่มีข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลประกอบการของทั้งกลุ่มบริษัท ก.ล.ต. จึงต้องมีหนังสือเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและให้ตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเพื่อให้มีการปฏิบัติโดยถูกต้องต่อไป

ที่มา: http://www.cpaccount.net/accounting-article-section/43-accounting-article-category/207-2008-06-30-02-04-04

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น