ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทำบัญชีอย่างไรให้สรรพากรยอมรับได้

เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับการประกอบธุรกิจที่ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องทำบัญชี ไม่เพียงแต่เฉพาะทำรายการรับเงินเข้าหรือจ่ายเงินออกเพื่อให้ทราบผลกำไรขาดทุน งบดุล หรืองบกระแสเงินสดเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการต้องลงบัญชีให้ถูกต้อง ถูกวิธี และถูกกฎหมาย เมื่อใดที่เจ้าหน้าที่สรรพากรเข้ามาตรวจสอบจะได้ไม่ต้องวิตกกังวล เพราะมีเอกสารให้ตรวจสอบอย่างครบถ้วน

ทำบัญชีอย่างไรให้สรรพากรยอมรับได้
ผู้ประกอบการจะทำบัญชีได้อย่างถูกต้องนั้น มีผู้เชี่ยวชาญทางบัญชีเคยบอกกล่าวไว้ว่า ในเบื้องต้นผู้ทำบัญชีจะต้องมีความรู้ในธุรกิจที่ทำให้ดีเสียก่อน นอกจากนี้ ก็ต้องมีระบบบัญชีที่ดี มีเอกสารการรับเงินจ่ายเงิน สต็อกสินค้า ส่งสินค้าให้ครบถ้วนตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ประมวลรัษฎากร เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอดสำหรับการเข้าตรวจสอบของสรรพากร
ประเภทธุรกิจที่แตกต่างกัน ก็จะมีรายละเอียดในการทำบัญชีแตกต่างกัน
เช่น ธุรกิจบริการ ต้องไม่ลืมที่จะคำนวนภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายทุกครั้งที่เกิดการให้บริการ หรือธุรกิจผลิตสินค้า ต้องตีความให้ถูกต้องว่าสินค้าใดผลิตเพื่อขาย สินค้าใดรับจ้างผลิต ซึ่งจะมีการลงบัญชีแตกต่างกัน สำหรับธุรกิจนำเข้า-ส่งออก จะต้องตรวจสอบพิกัดสินค้าที่นำเข้า หรือส่งออก เพราะหากมีการลงพิกัดผิด ก็อาจจะถูกปรับเสียค่าใช้จ่ายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ธุรกิจลีสซิ่งและเช่าซื้อ ก็ต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าเป็นธุรกรรมเป็นประเภทใด การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการให้เช่า ก็จะมีการลงบัญชีที่แตกต่างกัน
วัตถุประสงค์ของการจัดทำบัญชีสำหรับกิจการ
หลักๆ คือ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ใช้ประกอบการตัดสินใจในภาวะสำคัญ และเพื่อประกอบการพิจารณาเป้าหมายของกิจการ นอกจากนั้น การทำบัญชียังมีประโยชน์เพื่อการสั่งการ การอำนวยการ การควบคุมบุคลากร และทรัพยากรที่สำคัญขององค์กรให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผล เพื่อให้แน่ใจว่ามีการรายงานและดำรงรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรที่สำคัญขององค์กร และเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการควบคุมและเพื่อหน้าที่ทางสังคม ซึ่งเจ้าของกิจการ กรรมการ ผู้ถือหุ้น ต้องตระหนักถึงการมีระบบบัญชีที่ดี
การจัดการทางบัญชีที่ดีต้องมีการจัดสายงานที่ดี มีระบบในการทำงานร่วมกัน ระบุหน้าที่รับผิดชอบที่ชัดเจน และมีการใช้กำลังคนที่เหมาะสมกับงาน มีการวางแผนและกำหนดเป้าหมาย การจูงใจให้เกิดการทำงานไปสู่เป้าหมาย เข้าใจธรรมชาติของบุคคล และมีระบบควบคุมที่มีเสถียรภาพ นักบัญชีที่ดี ต้องทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทางบัญชี เช่น พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 มาตรฐานการบัญชี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยการจัดการห้างหุ้นส่วนและบริษัท พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ ประมาลรัษฎากร กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าและลิขสิทธิ์ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ประกาศของกรมทะเบียนการค้า และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น
มาดูหน้าที่ของผู้จัดทำบัญชีกันว่า นอกจากจะต้องจัดทำบัญชีให้ถูกต้องแล้ว กรณีปกติ ผู้จัดทำบัญชีจะต้องเก็บรักษาบัญชี และเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี กรณีเลิกกิจการ ก็ต้องเก็บเอกสารจนกว่าจะส่งมอบให้สารวัตรบัญชีและสารวัตรบัญชีเก็บไว้อย่างน้อยอีก 5 ปี (ส่งมอบภายใน 90 วันขยายได้ถึง 180 วัน) กรณีถูกตรวจสอบ อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้เก็บเกิน 5 ปีแต่ไม่เกิน 7 ปี ส่วนผู้ทำบัญชี จะต้องมีคุณสมบัติโดยเป็นผู้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทย มีความรู้ภาษาไทย ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายบัญชี/สอบบัญชี เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี มีคุณวุฒิการศึกษา ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี / สอบบัญชีหรือเทียบเท่า เข้าอบรมพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง อบรม 3 ปี 27 ชั่วโมง (เนื้อหาเกี่ยวกับบัญชีไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง แต่ละปีต้องเข้ารับการอบรมพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่องทางวิชาชีพไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง) และต้องแจ้งรายละเอียดการอบรมตามแบบ ส.บช. 7 ต่ออธิบดีภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีปฏิทินของทุกปี

ข้อแตกต่างระหว่าง บัญชีการเงิน และ บัญชีภาษีอากร


ในการจัดทำบัญชีของธุรกิจนอกจากจะต้องมีความรู้ด้านบัญชีไม่ว่าจะเป็นหลักการบัญชีทั่วไป มาตรฐานการบัญชีแล้ว นักบัญชีและผู้บริหารกิจการจะต้องมีความรู้ด้านภาษีอากรอีกด้วย

        ดังนั้นการจัดทำงานเกี่ยวกับบัญชีจะต้องมีแนวทาง ที่จะกำหนดในการจัดทำเพราะต้องคำนึงถึงทั้งหลักการบัญชีและกฎหมายภาษีอากร ซึ่งมีอยู่บ่อยครั้งมักจะพบว่า บัญชีที่ ได้จัดทำนั้นไม่ตอบสนองกับหลักเกณฑ์ทางกฎหมายภาษีอากร มีข้อขัดแย้งกับที่นักบัญชีจะต้องเข้าไปแก้ไขปรับปรุงให้เป็น ที่ยอมรับและถูกต้องทั้งด้านการบัญชีและกฎหมายภาษีอากร จะเห็นได้ว่าหากนักบัญชีได้มีการจัดทำบัญชีตั้งแต่สมุดรายวันขั้นต้น สมุดขั้นปลาย งบทดลอง งบการเงิน นักบัญชีจะยึดหลักการบัญชีและมาตรฐานการบัญชี อีกนัยหนึ่งก็คือยึดหลักของบัญชีการเงิน (Financial Accounting) นักบัญชีจะต้องนำข้อมูลทางบัญชีการเงินมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับกฎหมายภาษีอากรซึ่งก็คือการบัญชีภาษีอากร (Tax Accounting) ข้อแตกต่างระหว่างบัญชีการเงินกับบัญชีภาษีอากรจึงสรุปได้ดังต่อไปนี้

บัญชีการเงิน (Financial Accounting)

เป็นการจัดทำบัญชีเพื่อบันทึกรายการค้าที่เกิดขึ้นในแต่ละงวดบัญชี ตลอดจนการแสดงฐานะการเงินของกิจการในการจัดทำงบการเงิน แสดงการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของกิจการเพื่อรายงานต่อผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น บุคคลภายนอก และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นงบกำไรขาดทุน งบต้นทุนผลิต งบดุล งบกระแสเงินสด งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของผู้ถือหุ้น งบประกอบอื่นและหมายเหตุประกอบงบการเงินของกิจการ และรายละเอียดประกอบการจัดทำรายงานทางการเงินที่เกี่ยวข้อง

บัญชีภาษีอากร (Tax Accounting)

เป็นการนำหลักเกณฑ์ทางบัญชี มาตรฐานการบัญชี มาปรับให้เข้ากับประมวลรัษฎากรและกฎหมายภาษีอากรต่างๆ ให้สอดคล้องกันเพื่อให้ถูกต้องตามหลักการบัญชีและกฎหมายภาษีอากรไม่ว่าจะเป็นเรื่องการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิ เงื่อนไขการรับรู้รายได้และรายจ่ายของกิจการ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรืออากรแสตมป์ สืบเนื่องมาจากหลักการบัญชี หลายประการที่ขัดแย้งไม่เป็นไปตามกฎหมายภาษีอากรนั่นเอง มักจะพบเห็นกันเมื่อมีการจัดทำบัญชีของธุรกิจในแต่ละรายการค้าแต่ละงวดบัญชีมักจะปรากฏอยู่เสมอว่า หลักในการจัดทำบัญชีไม่เป็นไปตามกฎหมายภาษีอากร ซึ่งผู้จัดทำบัญชีจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขรายการค้าที่เกิดขึ้นให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางภาษีอากรที่ได้กำหนดเอาไว้
นักบัญชีส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดทำบัญชีการเงิน แต่ขาดความเข้าใจในตัวบทกฎหมายภาษีอากรโดยเฉพาะการนำกฎหมายภาษีอากรมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากันกับหลักการบัญชี โดยมากแล้วนักบัญชีมักจะทราบแต่พื้นฐานเบื้องต้นในการคำนวณหรือชำระภาษีอากร เช่น อัตราร้อยละของภาษีที่ต้องชำระ ต้องหักและนำส่งเท่านั้น

สรุปวัตถุประสงค์ของข้อแตกต่างระหว่างบัญชีการเงินและบัญชีภาษีอากรได้ดังนี้

บัญชีการเงิน

  1. ช่วยในด้านการควบคุมรายรับ ? รายจ่ายสินทรัพย์ - หนี้สินและส่วนของเจ้าของ
  2. ช่วยในการบริหารงานของกิจการ
  3. ช่วยในการตัดสินใจในการดำเนินงานขยาย ? เลิกกิจการ ฯลฯ
  4. เพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกโดยเฉพาะผู้ถือหุ้นที่ต้องการข้อมูลไปใช้ในการตัดสินใจ
  5. หลักฐานพิสูจน์ความถูกต้องในการจัดทำบัญชี การรวบรวมข้อมูลทางบัญชีการเงิน

บัญชีภาษีอากร

  1. ปรับหลักการบัญชีให้เข้ากับกฎหมายภาษีอากร
  2. หาข้อยุติทางบัญชีและภาษีอากรให้สอดคล้องกัน
  3. ปรับปรุงการบันทึกบัญชีให้เหมาะสมถูกต้องตามกฎหมายภาษีอากร
  4. จัดทำบัญชีที่กฎหมายภาษีอากรกำหนดให้ทำ เช่น บัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการนำส่งภาษีรายงานภาษีมูลค่าเพิ่ม
  5. ปรับปรุงรายรับทางบัญชีให้ตรงกับภาษีอากร
อ้างอิง       http://www.cpaccount.net/accounting-article-section/43-accounting-article-category/210-financial-tax-accounting